Biznews & Knowledge

Share :

เทคนิคการรักษาด้วยฉายรังสี

1. การฉายรังสีแบบ 2 มิติ (Conventional Radiotherapy)

ด้วยรังสี 2 มิติ โดยทั่วไป ส่วนใหญ่ ใช้การกำหนดขอบเขตการฉายรังสีจากกายวิภาคที่สามารถเห็นจากภาพเอกซเรย์ หรือการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ตำแหน่งของกระดูกเป็นตัวกำหนดขอบเขตการฉายรังสี และใช้เครื่อง Simulator (เครื่องเอกซเรย์แบบ Fluoroscopy) ถ่ายภาพเอกซเรย์แล้วขีดเส้นขอบเขตการรักษา ต่อมามีการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ถ่ายภาพ แต่การกำหนดขอบเขตการฉายรังสียังคงเป็นระนาบเดียวเท่านั้น ซึ่งลำรังสีของการฉายรังสีแบบ 2 มิติ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลม ทำให้เนื้อเยื่อปกติในบริเวณใกล้เคียงกับรอยโรคได้รับรังสีไปด้วย การฉายรังสีแบบ 2 มิติ จึงมีข้อจำกัดในการกำหนดทิศทางการฉายรังสีและจำนวนลำรังสีได้ไม่มาก

2. การฉายรังสีแบบ 3 มิติ (Three dimension conformal Radiotherapy หรือ 3-DCRT)

การฉายรังสีโดยการวางแผนการรักษาในระบบ 3 มิติ อาศัยการกำหนดขอบเขตการรักษาจากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยการกำหนดรูปร่างของลำรังสีให้มีรูปร่างและทิศทางของลำรังสีให้เหมาะสมกับรอยโรค โดยระบบสร้างภาพ 3 มิติ ทำให้การวางแผนการฉายรังสีมีความถูกต้องมากขึ้น ทำให้สามารถให้ปริมาณรังสีสูงเฉพาะบริเวณรอยโรค และสามารถเห็นการกระจายรังสีภายในตัวผู้ป่วยได้ ทำให้ลดปริมาณรังสีบริเวณเนื้อเยื่อปกติข้างเคียงได้มากขึ้น นำไปสู่การลดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

3. การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity Modulated Radiation Therapy)

เป็นการพัฒนาการฉายรังสีจาก 3-DCRTในการวางแผนการรักษาและระบบการคำนวณปริมาณรังสี โดยกระจายของปริมาณรังสีจะมีรูปร่างคล้ายกับรอยโรคมากขึ้น ซึ่งอาศัยหลักการปรับความเข้มของลำรังสีตามความหนาบางของก้อนมะเร็งในแต่ละทิศทางการเข้าของลำรังสี เพื่อให้เกิดความเข้มของรังสีที่แตกต่างกัน ซึ่งในแต่ละลำรังสีจะแบ่งการกระจายรังสีออกเป็นช่อง เรียกว่า beamlet การกำหนดความเข้มโดยการคำนวณจากเครื่องคอมพิวเตอร์วางแผนการรักษาด้วยวิธีการ Inverse Planning ซึ่งจะให้ความเข้มสูงบริเวณที่ก้อนมะเร็งหนาและความเข้มของรังสีจะลดลงบริเวณที่ก้อนมะเร็งบาง ทำให้ลำรังสีในแต่ละทิศทางมีความเข้มที่แตกต่างกัน เมื่อนำความเข้มของแต่ละทิศทางมาคำนวณปริมาณรังสีร่วมกันจะได้การกระจายรังสีที่ครอบคลุมเฉพาะก้อนมะเร็ง เทคนิคนี้จึงช่วยเพิ่มปริมาณรังสีให้แก่รอยโรคได้สูงขึ้นและเพิ่มผลการควบคุมโรคเฉพาะที่อุปกรณ์สำคัญในการกำบังรังสีและกำหนดรูปร่าง เพื่อปรับความเข้มของลำรังสี คือ Multi-leaf Collimator (MLC) มีลักษณะเป็นซี่ สามารถเคลื่อนที่เข้าออกในบริเวณลำรังสีได้ ทำให้สามารถสร้างรูปร่างของลำรังสีในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ ซึ่ง MLC จะถูกติดตั้งไว้ที่หัวเครื่องฉายรังสี จำนวนซี่ 80-120 ซี่

ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของผู้ป่วยโรคมะเร็งอัณฑะในขณะวางแผนการรักษาแบบ IMRT

4. การฉายรังสีแบบ Volumetric Modulated Arc Therapy (VMAT)

เป็นเทคนิคใหม่ล่าสุดของการฉายรังสี ซึ่งพัฒนามาจากเทคนิคการฉายรังสีแบบ IMRT กับ Dynamic Arc เป็นการฉายรังสีแบบปรับความเข้มของลำรังสีพร้อมกับการที่ลำรังสีเคลื่อนที่หรือหมุน เทคนิคนี้จึงมีความยุ่งยากและซับซ้อน อาศัยการคำนวณที่ยุ่งยาก โดยคอมพิวเตอร์วางแผนการรักษา ในการคำนวณปริมาณรังสี ซึ่งต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อควบคุมและคำนวณปริมาณรังสีให้มีความถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งเทคนิค นี้สามารถควบคุมปริมาณรังสีแก่รอยโรคตามรูปร่างของ ก้อนมะเร็งและช่วยลดปริมาณรังสีที่เนื้อเยื่อปกติรอบ ๆ ก้อนมะเร็ง ทำให้ผล ข้างเคียงจากการฉายรังสีลดลง

5. การฉายรังสีแบบ 4D

การฉายรังสีเทคนิคแบบ 4 มิติ เป็นเทคนิคที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการฉายบริเวณที่มีการขยับเนื่องจากการหายใจของผู้ป่วย อาทิเช่น บริเวณทรวงอก หรือ ช่องท้อง ซึ่งการวางแผนการรักษาต้องอาศัยข้อมูลสัญญาณการหายใจของผู้ป่วยที่ได้มาจากอุปกรณ์พิเศษที่ติดตั้งภายในห้อง CT simulator และในขณะเดียวกันเมื่อถึงเวลาฉายจริงจะต้องมีอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณการหายใจแบบเดียวกันที่ห้องฉายแสงด้วย เพื่อสังเกตและควบคุมการหายใจของผู้ป่วยให้เป็นในลักษณะเหมือนเดิมทุกครั้งขณะฉายแสง เนื่องจากก้อนมะเร็งมีการเคลื่อนที่ขณะผู้ป่วยหายใจตลอดเวลา การฉายแสงที่สัมพันธ์กับการหายใจ จะช่วยกำหนดตำแหน่งของก้อนมะเร็งที่จะโดนรังสีได้ดีมากยิ่งขึ้น และสามารถแยกส่วนเนื้อเยื่อปกติให้โดนรังสีได้น้อยที่สุด

ตัวอย่างอุปกรณ์พิเศษ ที่ช่วยจับสัญญาณการหายใจของผู้ป่วยตัวอย่างอุปกรณ์พิเศษ ที่ช่วยจับสัญญาณการหายใจของผู้ป่วย

1). Catalyst+ HD และ Sentinel

2). VisionRT

3). RGSC and Identify

6. การฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอน

การฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนนั้นถือเป็นเทคนิคที่มีความแม่นยำสูงเนื่องจากอนุภาคโปรตอนมีคุณสมบัติพิเศษ เมื่อเทียบกับรังสีอนุภาคชนิดอื่น ๆ ที่จะสามารถปลดปล่อยปริมาณรังสีบริเวณก้อนมะเร็งได้มากที่สุด โดยที่บริเวณที่เป็นเนื้อเยื่อปกติจะให้ปริมาณรังสีน้อยมาก ๆ เราเรียกคุณลักษณะพิเศษของอนุภาคโปรตอนนี้ว่า “Bragg peak” ด้วยคุณลักษณะนี้ทำให้การฉายแสงด้วยอนุภาคโปรตอนมีประโยชน์มากในเด็ก เพราะจะสามารถลดโอกาสการเกิดมะเร็งทุติยภูมิในเด็ก โดยในประเทศไทยมีศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นศูนย์การฉายอนุภาคโปรตอนแห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นเครื่องฉายอนุภาคโปรตอน รุ่น ProBeam compact ของยี่ห้อ Varian ที่นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

7. การฉายรังสีร่วมพิกัด

เป็นเทคนิคการฉายรังสีรูปแบบหนึ่ง ที่มีการให้รังสีปริมาณสูงที่ก้อนมะเร็ง โดยจำนวนครั้งในการฉายอยู่ที่ 1-5 ครั้งเท่านั้น สามารถแบ่งได้ 2 บริเวณ ได้แก่

  • รังสีศัลยกรรมร่วมพิกัด (Stereotactic radiosurgery (SRS)) การฉายรังสี ปริมาณสูงที่ก้อนเนื้องอกบริเวณศีรษะหรือไขสันหลัง โดยให้การฉายรังสีเพียง 1-5 ครั้ง
  • รังสีร่วมพิกัดบริเวณลําตัว (Stereotactic body radiationtherapy (SBRT)) เป็นการฉายรังสีปริมาณสูงที่ก้อนบริเวณลําตัว เช่น ปอด ตับ หรือ ต่อมลูกหมาก เป็นต้น โดยใช้การฉายรังสี 1-5 ครั้งเช่นกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก แผนกรังสีรักษา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ www.astro.org

การจะรักษามะเร็งให้ได้ผลดีนั้น ต้องอาศัยการรักษาแบบผสมผสานกันหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี การใช้เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด ซึ่งแล้วแต่แพทย์สาขาต่าง ๆ มาร่วมกันปรึกษาเพื่อเลือกแผนการรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุดแก่ผู้ป่วยรายนั้น ๆ

แหล่งที่มา:

  1. สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  2. แผนกรังสีรักษา โรงพยาบาลวัฒโนสถ (ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ)
พระนครซอฟต์

Join our newsletter​

Get the lastest news to keep you at the Business Alignment.

Subscription Form